หลวงปู่พิบูลย์ วัดพระแท่น ถูกจับถ่วงน้ำ 7 วัน แต่ไม่เป็นอะไร

หลวงปู่พิบูลย์ วัดพระแท่นบ้านแดง อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี

หลวงปู่พิบูลย์  นามเดิมชื่อ  พิบูลย์  เกิดที่บ้านพระเจ้า  ตำบลมะอึ  อำเภอธวัชบุรี  จังหวัดร้อยเอ็ด โยมบิดาชื่อสา  โยมมารดาชื่อโสภา  นามสกุลแซ่ตัน  บิดาเป็นคนจีน  มารดาเป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ด  มีอาชีพทำไร่ทำนาและค้าขาย จนมีฐานะมั่นคง  นายพิบูลย์มีอุปนิสัยชอบทำบุญบำเพ็ญทาน แก่พระภิกษุและคนยากคนจนผู้ตกทุกข์ได้ยาก เพราะเห็นว่า ผลบุญกุศลที่ได้ทำแล้ว จะทำให้เกิดความสุข ในภพนี้ และภพหน้า บุญกุศลเป็นความดี และเป็นเครื่องห้ามกั้นไม่ให้ไปสู่อบาย นายพิบูลย์เอาใจใส่ทั้งการบำเพ็ญทาน  รักษาศีล  เจริญเมตตา และต่อมา ได้แต่งงานอยู่กินกับหญิงสาว ซึ่งเป็นชาวบ้านพระเจ้า  แต่ไม่ทราบชื่อ  อยู่ด้วยกันมาหลายปีไม่มีบุตร และเนื่องจากภรรยาต้องการบุตรมาสืบสกุล จึงได้ปรึกษากับนายพิบูลย์ แล้วตกลงกันไปขอบุตรของนางจันทีมาเลี้ยง เพราะนางจันทีมีลูกหลายคน  นางจันทีก็ยินดียกให้ เป็นเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 5 ขวบ นายพิบูลย์จึงได้นำมาเลี้ยง เป็นบุตรบุญธรรม นายพิบูลย์ได้อบรมสั่งสอนให้บุตรคนนี้ เป็นคนมีอุปนิสัยดี  ขยัน  ซื่อสัตย์ ว่านอนสอนง่าย  เป็นที่รักของพ่อและแม่ พอบุตรสาวเจริญวัยขึ้นมาได้ประมาณ 16 ปี  ก็เป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม เป็นที่ชอบพอของหนุ่ม ๆ ต่อมาอายุได้  19  ปี นายพิบูลย์จึงได้ให้แต่งาน และพอเห็นว่าบุตรสาวของตนได้แต่งงานกับบุคคลผู้มีนิสัยดี  พอที่จะไว้เนื้อเชื่อใจได้ นายพิบูลย์จึงบอกกล่าวกับลูกสาวและลูกเขยว่า  ”พ่อขอยกทรัพย์สมบัติทั้งปวงนี้ ให้แก่พวกเจ้าเป็นผู้ดูแลกรักษา ส่วนพ่อจะขอลาออกบวช “

เมื่อออกบวชแล้ว ได้ไปพบกับอาจารย์ไม้เท้าหนักหมื่น ได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกับลูกศิษย์อีก 7 รูป เป็นระยะเวลาหลายปี จนอาจารย์เห็นว่า ลูกศิษย์แต่ละรูป ประพฤติปฏิบัติในธรรมอย่างเคร่งครัด  เห็นว่าได้บรรลุธรรมเป็นส่วนมากแล้ว  อาจารย์จึงได้เรียกลูกศิษย์ทั้งเจ็ดออกมา  แล้วเอาลูกสมอให้คนละหนึ่งลูก ให้เคี้ยวลูกสมอนั้นให้แตก  ปรากฏว่าหลวงปู่พิบูลย์ เคี้ยวลูกสมอแตกละเอียดพร้อมพระอีก 5 รูป ส่วนอีก 2 รูปนั้น ไม่แตกแม้กระทั่งเปลือก  อาจารย์ก็รู้แล้วว่า ผู้ใดบรรลุธรรม  และไม่บรรลุ  ผู้ที่ยังไม่บรรลุธรรม ก็ให้ปฏิบัติธรรมต่อไป  ส่วนหลวงปู่พิบูลย์ อาจารย์แนะนำให้ไปสร้างวัด อยู่เขตอำเภอหนองหาน จากนั้นหลวงปู่พิบูลย์จึงออกเดินทาง เมื่อหลวงปู่ได้สร้างวัด พัฒนาวัดและหมู่บ้าน เป็นที่อาศัยของผู้เข้ามาอยู่เป็นอย่างดีแล้ว จึงตั้งธนาคารข้าวเปลือก ธนาคารโคกระบือ และบวชผู้หญิงนุ่งขาวห่มขาวถือศีล ๘  ในการที่หลวงปู่ได้พัฒนาหมู่บ้านทั้ง ๓ อย่างนี้  ถือเป็นการดีและเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านเป็นอันมาก  แต่เมื่อทางราชการได้ยินเรื่องนี้ ก็ทำให้ทางราชการเข้าใจผิดคิดว่าหลวงปู่เป็น “ผีบุญ” หรือเป็นกบฏผีบุญนั่นเอง  เพราะได้ซ่อมสุมผู้คนไว้จำนวนมาก ดังนั้นทางพระอำเภอหนองหานและเจ้าคณะแขวง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมาจับกุมหลวงปู่ และทำทารุณกรรมต่าง ๆ นานา แล้วส่งลงไปที่กรุงเทพฯเพื่อสอบสวน  เมื่อทางการลงความเห็นว่าผิดจริง จึงส่งไปกักขังเพื่อรอการลงโทษอยู่ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี เจ้าหน้าที่ได้ลงโทษหลวงปู่ โดยการที่เอาหลวงปู่ขังไว้ในกรงไม้  แล้วเอาลงถ่วงน้ำ  แต่เมื่อผ่านไป ๗ วัน ๗ คืน เจ้าหน้าที่คิดว่าหลงปู่ท่านมรณภาพแน่นอนแล้ว  จึงดึงกรงนั้นขึ้นมา  ปรากฏว่าหลวงปู่ท่านยังไม่ตาย  อย่าว่าแต่ตายเลย แม้จีวรที่ท่านนุ่งห่มอยู่  ก็ไม่เปียกน้ำ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว ถึงกับตกตะลึงในปาฏิหารย์ของหลวงปู่ และเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่ หลังจากนั้นจึงนำตัวหลวงปู่มากักขังไว้ อย่างคนธรรมดาทั่วไป กักขังอยู่ ๓ ปี พอครบกำหนด ข้าหลวงเมืองชลบุรี ก็เข้าไปหาหลวงปู่และได้ไต่ถามหลวงปู่ว่า “บ้านหลวงปู่อยู่ที่ไหน” หลวงปู่ตอบว่า “อยู่ที่อุดร อำเภอหนองหาน (ในสมัยนั้น)” ท่านข้าหลวงถามไปอีกว่า “อยากกลับบ้านหรือเปล่า” หลวงปู่ตอบว่า “อยากจะกลับ” และท่านข้าหลวงถามอีกว่า “รถที่จะกลับนั้นถึงบ้านที่อุดรหรือไม่” หลวงปู่ตอบว่าไปไม่ถึง รถถึงแค่โคราช” ข้าหลวงจึงประกาศรับบริจาคเงินทอง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับบ้านของหลวงปู่ และข้าหลวงได้ทำหนังสือส่งตัวหลวงปู่ ถึงนายอำเภอเมืองโคราช เมื่อหลวงปู่เดินทางถึงโคราชแล้ว นายอำเภอจึงประกาศหาคนที่อยู่อุดร ก็มีพ่อค้าเกวียน ชื่อว่า “นายเบี้ยว” บอกว่ามาจากหนองหาน ได้นำเกวียนมาค้าขายกับพวก จำนวน ๒๐ คน นายอำเภอเมืองโคราชจึงบอกกับนายเบี้ยวว่า “ให้นำหลวงปู่กลับไปบ้านแดงด้วย จะมีรางวัลให้ และในระหว่างเดินทาง ให้ถวายอาหารเช้าและเพลหลวงปู่ด้วย อย่าให้ขาดตกบกพร่อง” นายเบี้ยวเมื่อได้ยยินดังนั้น จึงนำหลวงปู่ไปขึ้นเกวียนพร้อมกับอัฐบริขารของท่าน เมื่อเดินทางมาถึงหนองหาน นายเบี้ยวได้ส่งข่าวให้ชาวบ้าน บ้านนายม บ้านดงยาง และบ้านแดงทราบ ชาวบ้านดังกล่าวเมื่อได้ทราบข่าว ต่างก็มีความปิติยินดีเป็นอย่างมาก นายเบี้ยวได้นำส่งหลวงปู่มาจนถึงบ้านโพธิ์ และได้เดินทางกลับ ชาวบ้านแดงก็ได้แตกตื่นออกไปรับกันหมด  แล้วพากันแห่หลวงปู่เข้าสู่บ้านแดง  เป็นที่ชื่นชมยินดีของชาวบ้านแดงเป็นอย่างมาก เมื่อเหตุการณ์ปกติแล้วหลวงปู่ก็พาชาวบ้านสร้าง และพัฒนาหมู่บ้านต่อไป เมื่อผู้คนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่มากขึ้นไปอีก และหลั่งไหลกันเข้ามาหาหลวงปู่ มีทั้งพระทั้งโยมที่มาพึ่งใบบุญ หลวงปู่ได้นำพาชาวบ้าน พัฒนาทำถนนหนทางในหมู่บ้านจนเสร็จ  มีผู้มาขอบวชชีและแสดงตนเป็นศิษย์ก็มาก จนเป็นข่าวลือถึงหูพวกเจ้านายอีกทั้งพระสงฆ์ผู้ใหญ่ และเจ้านายอำเภอก็พากันมาจับหลวงปู่ไปเป็นครั้งที่สอง แต่ครั้งนี้ปลวงปู่ไม่ยอมไป เขาจึงจับหลวงปู่ฉุดกระชากลากถูดึงลงจากกุฏิ ศีรษะของหลวงปู่ฟาดกับขั้นบันได และเขาลากหลวงปู่ถูไถกับพื้นดิน ไปจนถึงห้าแยกก็จับโยนทิ้งใส่เกวียน แล้วเอาวัวมาเทียมเกวียน แต่วัวไม่ยอมเข้า เขาก็ทำดุจจะฆ่าจะแกงมัน สุดท้ายวัวก็หลุดวิ่งหนีไป ดังนั้นพวกที่มาจับหลวงปู่ต้องได้ลากเกวียนไปเอง ในตอนที่เขามาจับหลวงปู่นั้น ชาวบ้านก็พากันร้องห่มร้องไห้เต็มไปหมด ช่วยอะไรก็ไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่บ้านห้ามไว้ เขามาจับกุมตอนกลางวัน กว่าจะถึงอุดรก็สว่างพอดี แล้วพวกที่มาจับกุม ก็ได้นำหลวงปู่ไปไว้วัดโพธิสมภรณ์ เจ้าอาวาสให้พักอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัด ในช่วงที่อยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์นั้น หลวงปู่ถูกทรมาน ถูกทำร้ายร่างกายอยู่หลายครั้งหลายหน จนถึงขั้นห้ามไม่ให้ออกบิณฑบาต เพราะเห็นว่าหลวงปู่ออกบิณฑบาตแล้ว ได้ข้าวได้อาหารเยอะ เมื่อผู้คนแถวนั้น ไม่เห็นหลวงปู่ออกบิณฑบาต ก็หลั่งไหลเข้าไปหาหลวงปู่ พอเหตุการณ์ร้ายๆ สงบลง หลวงปู่ก็เริ่มพาผู้คนพัฒนาวัดโพธิสมภรณ์ และนำเงินที่ได้จากการบริจาค มาซื้อที่ดินเพิ่มเติม ทำให้บริเวณที่หลวงปู่อยู่ กว้างขวางขึ้น และได้สั่งให้ญาติโยมไปหาซื้อบ้านเก่าๆ เพื่อนำไม้ไปปลูกสร้างกุฏิ รวมแล้วได้กุฏิทั้งสิ้น ๕๕ หลัง สร้างศาลาไว้เป็นที่ต้อนรับญาติโยม ที่ไปมาหสู่อยู่อย่างไม่ขาดสาย และสร้างยุ้งฉางใส่ข้าวขนาดใหญ่อีกหนึ่งหลัง แล้วให้ญาติโยมนำเกวียนออกไปหาซื้อข้าวมาใส่ไว้ให้เต็ม เอาไว้รองรับผู้เข้าไปรักษาตัว จำพวกผีเข้าเจ้าทรง รักษาปอบ รักษาผี พวกนี้มีมากเหลือเกิน และพวกไปหาเครื่องลางของขลัง ผูกแขนและรดน้ำมนต์เหล่านี้เป็นต้น หลวงปู่ได้ตั้งธนาคารโคกระบือขึ้นอีก ไว้บริจาคให้กับผู้ตกทุกข์ได้ยาก ไม่มีควายทำไร่ทำนา ในช่วงระยะเวลาที่หลวงปู่พัฒนาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์นี้ ก็หาได้ลืมชาวบ้านแดงไม่ ขณะที่ชาวบ้านแดงเข้าไปนมัสการหลวงปู่ หลวงปู่ก็จะสั่งชาวบ้านขุดลอก ห้วย หนอง คลอง บึง สร้างโบสถ์สร้างวิหารต่างๆ หากชาวบ้านขาดเหลือเงินทองท่านก็ให้ ใครไม่มีควายทำนาก็ไปขอจากหลวงปู่ท่านก็ให้  ในช่วงที่หลวงปู่พิบูลย์ไม่อยู่บ้านแดงนี้ ก็ได้หลวงปู่โชติเป็นผู้บริหารงานแทนท่าน อยู่ที่วัดพระแท่น ทำให้การพัฒนาวัดและหมู่บ้านไม่มีการหยุดยั้ง ที่ดินบางส่วนก็เป็นที่ตั้งโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีในปัจจุบัน หลวงปู่ก็ได้ยกให้เป็นสมบัติของทางราช ช่วงระยะเวลาที่หลวงปู่อยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์นั้น เกิดสงครามอินโดจีนขึ้น พวกฝรั่งเศสก็มาทิ้งระเบิดที่หนองนาเกลือ ในแต่ละวันระเบิดจะถูกทิ้งลงตรงไหนหลวงปู่รู้หมด และจะไปขีดเป็นวงกลมไว้ เมื่อระเบิดตกลงมาปรากฏว่า ลูกระเบิดไม่ระเบิดแม้แต่ลูกเดียว จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็ทำให้มีผู้สนใจเครื่องลางของขลังจากหลวงปู่เยอะมาก

จากหนังสืออนุสรณ์ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระครูวิบูลคุณาทร  (หลวงปู่โชติ  ธมฺมธโร)  เมื่อวันที่  13 -18 มีนาคม  พ.ศ.2546  ซึ่งจัดทำขึ้นโดยพระครูมัญจาภิรักษ์ เจ้าคณะอำเภอพิบูลย์รักษ์  จังหวัดอุดรธานี

เรียบเรียงโดย ดูยังแชนแนล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *